15 กันยายน 2551

NEWSWEEK ยกย่อง “ทักษิโณมิกส์” ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่ครองความนิยมในเอเชีย




นิวส์วีค นิตยสารชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ที่เคยขึ้นปก 4 ผู้นำในเอเชีย และมีรูปของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เป็นหนึ่งในผู้นำทั้ง 4 คน รวมอยู่กับนายหม่า อิง จิ่ว ผู้นำของไต้หวัน นายลี เมียง บัก ประธานาธิบดีนักธุรกิจของเกาหลีใต้ และ นายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ภายใต้บทความที่นำเสนอในชื่อว่า The Politics of Practical Nostalgia หรือ การเมืองแห่งการโหยหาอดีตที่ทำได้จริง

ล่าสุดนิตยสารนิวส์วีคฉบับประจำวันที่ 1 กันยายน 2551 ซึ่งออกวางตลาดในเร็วๆ นี้ได้ลงตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอีกครั้ง ในบทความที่มีชื่อว่า A Leader Who Looms/ ผู้นำที่ยังคงยืนเด่นเป็นตระหง่าน

โดยเนื้อหาของบทความชิ้นนี้ได้ยกย่อง “ทักษิโณมิกส์” ว่า เป็นนโยบายที่ได้รับการยอมรับในภูมิภาคเอเชียอย่างกว้างขวาง มีผู้นำในแถบเอเชียหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียแม้กระทั่งประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน และอินเดีย ก็ยังเดินตามรอย “ทักษิโณมิกส์” ของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย

แถมไม่พลาดที่จะเหน็บพวกปัญญาชนว่า “พวกปัญญาชนผู้รอบรู้ เคยหัวเราะเยาะทักษิณ แต่นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมของเขา กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายในเอเชีย”

นอกจากนี้นิวส์วีคยังกล่าวยกย่องชมเชย กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของทักษิณ ที่ออกมาในรูป “นโยบายคู่ขนานหรือทักษิโณมิกส์” ว่าเป็น “ความคิดที่ฉลาดหลักแหลม” พร้อมเอ่ยชมอดีตนายกฯทักษิณว่า เป็น “นักคิดทางเศรษฐกิจผู้ยิ่งใหญ่”

โดยในตอนท้ายนิวส์วีคสรุปว่า “นโยบายคู่ขนานที่เฉียบแหลม” นั้น มันทำงานได้ผลจริงๆ

สำหรับ George Wehrfritz แห่งนิตยสาร NEWSWEEK ผู้เขียนบทความ A Leader Who Looms/ ผู้นำที่ยังคงยืนเด่นเป็นตระหง่านนี้ เคยเขียนบทความเรื่อง Buddhist Economics/พุทธเศรษฐศาสตร์ มาแล้วเมื่อต้นปี 2007

==============

ผู้นำที่ยังคงยืนเด่นเป็นตระหง่าน

ถอดความภาษาไทยโดย Thinking in ink

พวกปัญญาชนผู้รอบรู้ เคยหัวเราะเยาะทักษิณ แต่นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมของเขา กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายในเอเชีย แม้กระทั่งจวบจนวาระที่เขาอำลาประเทศไทย

โดย จอร์จ เวอห์ฟริซส์
นิตยสารนิวส์วีคระหว่างประเทศ ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2551

ในศัพท์ทางการเมือง คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นได้ทุกอย่าง ยกเว้น “ผู้สูญเสียอำนาจ” เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรี แอบดอดเดินทางไปต่างประเทศ มุ่งสู่คฤหาสน์หลังงามในอังกฤษของเขาอย่างเงียบๆ เป็นการจบความคาดหวังที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า การกลับคืนสู่มาตุภูมิด้วยความภาคภูมิใจในชัยชนะของเขา เมื่อเดือนมกราคมอาจเป็นลางบ่งบอกถึงการหวลกลับคืนสู่เวทีการเมืองระดับชาติอีกครั้ง จากที่ต้องลี้ภัยอยู่หลายเดือน หลังถูกโค่นล้มอำนาจจากการทำรัฐประหารอย่างไม่เสียเลือดเนื้อ เมื่อปี 2549 คุณทักษิณได้ออกแถลงการณ์ ถึงสาเหตุที่ต้องบินไปยังอังกฤษครั้งนี้ว่า ข้อกล่าวหาเรื่องเส้นสายแห่งการคอร์รัปชันและข้อกล่าวหาอื่นๆ กำลังถูกนำเข้าสู่การพิจาราณาคดีในชั้นศาลไทย “ที่มีธงตั้งไว้แล้วล่วงหน้า เพื่อจัดการกับผมและครอบครัว” การลี้ภัยแบบคาดไม่ถึง ของมหาเศรษฐีพันล้าน(เหรียญสหรัฐ)ผู้สร้างฐานะด้วยตนเองครั้งนี้ ก่อให้เกิดการถกเถียงถึง ความถูกต้องของข้อกล่าวหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ ทั้งเรื่องที่ทางกรุงเทพฯ ควรดำเนินการเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ และตัวจักรทางการเมืองของคุณทักษิณในอนาคต

แต่แทบไม่มีการกล่าวถึง ผลงานที่อยู่ยืนยงสถาพรของคุณทักษิณเลย นั่นคือ : “การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก” ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ในการโปรโมทตัวเองนิดหน่อยอย่างไม่ต้องอาย คุณทักษิณประทับตรายุทธศาสตร์การพัฒนานี้ว่า “ทักษิโณมิกส์” ยุทธศาสตร์นี้ ถูกนำไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงว่า เป็นนโยบายเพื่อยกระดับฐานะของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่เขาลงสมัคร – ชาวไทยชนบท – ให้พ้นจากความยากจน นโยบายทักษิโณมิกส์ถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริง หลังจากที่เขาชนะเลือกตั้ง กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2544 ความคิดริเริ่มของคุณทักษิณ ได้พลิกฟื้นความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติการเงินเอเชีย ช่วงปี 2540-41 และทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นไปอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่อิจฉาในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่หยิบยืมมาจาก“ทักษิโณมิกส์” กำลังถูกนำไปใช้เพิ่มมากขึ้น ทั่วทั้งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เพื่อจัดการกับปัญหาเดียวกัน ที่เคยระบาดในประเทศไทยช่วงปลายทศวรรษ 1990 และในตอนนี้ได้คุกคามทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง : การพึ่งพาตลาดส่งออกจากอีกประเทศหนึ่งมากเกินไป การพัฒนาแบบไม่เท่าเทียมในประเทศ และ ช่องว่างของรายได้ ระหว่างคนรวยและคนจน ที่เพิ่มถ่างมากขึ้น

นักวิพากษ์วิจารณ์ ได้ประณามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของคุณทักษิณว่า เป็น “นโยบายประชานิยม ที่ผลาญเงินงบประมาณอย่างมหาศาล” แต่ผู้ที่ไม่ยอมรับนโยบายของทักษิณเหล่านี้ ต้องรีบเปลี่ยนความคิดอย่างรวดเร็ว เมื่อนโยบายประชานิยมอย่าง การพักหนี้เกษตรกรและกองทุนหมู่บ้านได้กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ให้เกิดขึ้นในระดับรากหญ้า และการปรับปรุงสวัสดิการพื้นฐานที่อ่อนแอของประเทศไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดให้มีโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรค(เกือบฟรี) ได้ช่วยปลดปล่อยครัวเรือนในชนบท ให้เกิดการออมน้อยลง และออกไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น(ยกระดับการบริโภคภายในประเทศ) คุณทักษิณเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า “การพัฒนาแบบคู่ขนาน” หรือ “การพัฒนาเศรษฐกิจทวิวิถี” ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์จากตลาดภายในประเทศมากขึ้น ควบคู่ไปกับภาคการส่งออก และมันทำงานได้ผลจริงๆ

แน่นอนว่า หนี้สาธารณะได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ชดเชยด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และรายได้จากภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของประเทศไทย ขยายตัวเกือบ ร้อยละ 6 ต่อปี จากปี 2544-2549 โดยพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออกที่ลดลง และจริงๆ แล้วช่องว่างระหว่างรายได้ของประเทศไทย ก็หดแคบลง ในขณะที่ระยะห่างระหว่างคนมั่งมีและคนยากจน กลับกว้างมากขึ้น ทุกหนแห่งในภูมิภาคเอเชียอย่างเห็นได้ชัด

ระบบคิดในการดำเนินกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของทักษิณในตอนนี้ ได้รับการยอมรับนับถือว่า เป็น “ความคิดที่ฉลาดหลักแหลม” นโยบายประชานิยมที่เน้นการเข้าถึงแหล่งทุน โอกาสในการจ้างงาน และการบริการสังคมขั้นพื้นฐานสามารถเปลี่ยนโฉมจากภูมิภาคที่เสียเปรียบ กลายเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ซูซิโล บัมมัง ยุดโดโยโน ได้เดินตามรอย “ทักษิโณมิกส์” ในการช่วยเหลือครัวเรือนที่ยากจน ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น โดยออกมาตราการใช้เงินอุดหนุน พยุงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพื่อไม่ให้คนยากจนต้องใช้น้ำมันแพง หรือ นายมันโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ได้ริเริ่มโครงการสร้างงานในชนบทหลายล้านตำแหน่ง ความต้องการในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของเขา สะท้อนให้เห็นถึงการเดินตามนโยบายประชานิยมของทักษิณเป็นอย่างมาก หรือ ประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย แห่งฟิลิปปินส์ ที่ครั้งหนึ่งเคยประกาศว่า “ฉันเป็นสานุศิษย์ของทักษิโณมิกส์อย่างไม่อาย” และนับตั้งแต่ปี 2549 เมื่อจีน เปิดตัวโครงการขนาดยักษ์ใหญ่ เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนของรัฐ ที่ต้องการเนรมิตโครงการ “การพัฒนาชนบทตามแนวทางสังคมนิยมรูปแบบใหม่” ขึ้นในพื้นที่ชนบทห่างไกล ทางปักกิ่ง ได้ยกเลิกภาษีการเกษตรทั่วประเทศ จัดสรรเม็ดเงินหลายร้อยล้าน(เหรียญสหรัฐ)ให้กับอุตสาหกรรมในชนบท และนอกจากนี้ ยังหาหนทางเพื่อช่วยฟื้นฟูจังหวัดที่ยากจนทางตอนกลางของประเทศ(ย้อนไปในปี 2003 จีนได้ส่งคณะผู้แทนชุดหนึ่ง ไปยังประเทศไทยเพื่อศึกษา “ทักษิโณมิกส์” ตามรายงานของทางการจีน)

บรรดาผู้นำของจีนได้ยืนยันถึงความสำคัญของสิ่งที่ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา เรียกว่า “การเติบโตที่ก้าวไปพร้อมกัน” เมื่อครั้งที่สภาประชาชนแห่งชาติ จัดการประชุมขึ้นช่วงเดือนมีนาที่ผ่านมา และไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานการวิเคราะห์ของจีนและต่างประเทศ ได้บอกเป็นนัยว่า ในเร็วๆ นี้ ทางปักกิ่ง จะเปิดเผยถึงมาตรการทางด้านการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดยักษ์ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ภาคเศรษฐกิจที่มีข้อเสียเปรียบ

ในฐานะผู้นำชาติอาเซียน ที่เป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน หากไม่ผิดพลาดทางการเมืองแบบมโหฬารอย่างไม่น่าให้อภัยเสียก่อน ทักษิณอาจก้าวขึ้นสู่ “ทำเนียบปูชนียบุคคล แห่งแวดวงนักคิดทางเศรษฐกิจผู้ยิ่งใหญ่” ไปแล้ว โดยในช่วงปลายปี 2548 เขาได้ขายกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของครอบครัว ให้กับบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่สนนราคา 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี ดีลการซื้อขายครั้งนี้ พิสูจน์แล้วว่า เป็น”การวางแผนที่ผิดพลาด” แม้แต่ในประเทศที่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบระบบพวกพ้อง ที่อะลุ้มอะหล่วยต่อกันอย่างไทย ในการเปิดเกมรุกโต้ตอบทักษิณครั้งนี้ ได้มีการประสานความร่วมมือกันระหว่างชนชั้นสูง ที่เป็นกลุ่มทุนเก่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน และผู้มีอำนาจในกองทัพ โดยเรียกร้องให้เขาลาออก และจัดแสดงการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน ที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นอัมพาตอยู่หลายเดือน ต่อมา ในวันที่ 19 กันยายน 2549 กองทัพไทยได้ทำรัฐประหารเป็นครั้งที่ 13 นับตั้งแต่ปี 2488 เข้ายึดอำนาจการปกครอง ขณะที่ทักษิณยังอยู่ที่กรุงนิวยอร์ค เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ที่องค์การสหประชาชาติ

ในตอนแรก รัฐบาลทหาร พยายามที่จะเก็บพับ “นโยบายทักษิโณมิกส์” โดยเชิดชูยกย่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตแบบพุทธขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ที่เป็นไปแบบทันควัน ทำให้บรรดานายทหารต้องรีบเปลี่ยนแนวนโยบายแทบไม่ทัน แม้กระทั่งโละทิ้งโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 รักษาทุกโรคของทักษิณ เปลี่ยนมาเป็น “รักษาฟรีทุกโรค” แทน รัฐบาลชุดใหม่ของไทย ได้เดินตามรอยนโยบายของทักษิณ ด้วยการออกมาตรการลดภาษีน้ำมัน ใช้ไฟฟ้า-ประปาฟรี สำหรับครัวเรือนขนาดเล็กและกระทั่งขึ้นรถเมล์-รถไฟฟรี! รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวถึงมาตราการที่ออกมาเหล่านี้ว่านโยบาย (6 มาตรการ 6 เดือน)เหล่านี้ จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปี สูงถึงร้อยละ 6 และสามารถลดการใช้จ่ายของครัวเรือนได้ประมาณ 350 เหรียญสหรัฐต่อปี โดยเฉลี่ย “ผู้ที่นำเสนอนโยบายเหล่านี้มาปฏิบัติ จะได้คะแนนเสียงอย่างแน่นอน ส่วนผู้ที่ยกเลิกนโยบายเหล่านี้ จะสูญเสียคะแนนเสียงแทน” นิธินัย สิริมัทการ นักเศรษฐศาสตร์อิสระกล่าว

แต่นั่นเป็นเพียงบางส่วน ของการอธิบายถึงความนิยมของนโยบายประชานิยมเท่านั้น เมื่อผลงานในอดีตของทักษิณแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม บทสรุปอีกอันที่ตามมาก็คือ “นโยบายคู่ขนานที่เฉียบแหลม” จริงๆ แล้วมันทำงานได้ผลนั่นเอง

(หมายเหตุ อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ A Leader Who Looms โดย George Wehrfritz ได้จาก ลิงก์ )

ไม่มีความคิดเห็น: